การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

อย่า ‘มองนาน’ ได้มั๊ย ถ้าเธอไม่แคร์

    คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต กลายเป็นของใช้ที่คนในยุคปัจจุบันแทบทุกคน จะต้องถือติดมือไว้ตลอดเวลา เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ซึ่งถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างรวดเร็วผ่านปลายนิ้ว ทำให้เราเห็นได้ว่า โลกในยุคปัจจุบันนี้ก้าวหน้าไปอย่างว่องไวเกินกว่าที่พวกเราจะอาศัยอยู่ได้โดยขาดอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ ผู้คนจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก ก็ยังสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่ว และนี่ก็อาจเป็นต้นเหตุที่ให้คนเหล่านี้ เกิดภาวะอาการป่วย เนื่องจากใช้มันอย่างมากเกินไปนั่นเอง

    อาการป่วยที่ว่านี้ มีชื่อว่า “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) หรือ โรคซีวีเอส” ซึ่งเป็นอาการที่เกิดกับคนที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หรือมากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดอาการปวดตา แสบตา ตาพร่ามัว หรือมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ซึ่งอาการที่ว่านี้สามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป โดยจะเป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เป็นอาการแบบชั่วครั้งชั่วคราวที่หากได้พักสักครู่ ก็สามารถหายเป็นปกติได้อีกครั้ง แต่สำหรับในบางคนก็อาจจำเป็นต้องทานยาแก้ปวด เพื่อระงับอาการต่างๆเหล่านี้เลยก็มี

อย่า ‘มองนาน’ ได้มั๊ย ถ้าเธอไม่แคร์
ภาพจาก : http://eyelasikaustin.com/computer-vision-syndrome-cvs/ อย่า ‘มองนาน’ ได้มั๊ย ถ้าเธอไม่แคร์


    สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด แต่เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้สายตาหน้าอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์เหล่านี้นี่ละ เพราะเวลาที่เราจ้องหรืออ่านสิ่งต่างๆที่หน้าจอด้วยสมาธิ จะทำให้อัตราการกระพริบตามีแนวโน้มลดลงกว่าร้อยละ 60 ทำให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา รู้สึกฝืดๆในตา หรือมีอาการกล้ามเนื้อตาเกร็งตัวได้ อีกทั้งแสงจากหน้าจอก็ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ดวงตาเกิดความเมื่อยล้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยมากขึ้น หากพวกเขาปรับแสงจากหน้าจอได้ไม่เหมาะสม และหากยิ่งเป็นบุคคลที่มีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน เป็นต้น ด้วยแล้ว จะยิ่งเกิดความเมื่อยล้าทางสายตาได้ง่ายกว่าเดิม เพราะฉะนั้น คนพวกนี้จึงต้องพยายามลดการใช้งานหน้าจอให้น้อยลง หรือมีวิธีการในการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

    วิธีการในการแก้ไขปัญหานี้ก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องปรับความเหมาะสมของแสงที่ออกมาจากหน้าจอให้ลดน้อยลง ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไป เพื่อลดความเมื่อยล้าทางสายตา และจัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม โดยไม่ให้มีแสงไฟส่องเข้าทางด้านหน้าหรือด้านหลังจอภาพโดยตรง เพื่อไม่ให้แสงปะทะกับจอภาพและสะท้อนเข้าตาของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังต้องกำหนดระยะการทำงานที่ห่างจากจอภาพอย่างเหมาะสม โดยเฉลี่ยกำหนดให้ระยะจากตาถึงจอภาพอยู่ที่ประมาณ 0.45 ถึง 0.50 เมตร และให้สายตาอยู่ในระดับสูงกว่าจอภาพเล็กน้อย โดยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2547 กล่าวไว้ว่า มุมที่ระดับสายตา (angle of gaze) ทำกับจอคอมพิวเตอร์ที่มากกว่า 14 องศา จะช่วยลดอาการของโรคซีวีเอสได้

สุดท้าย คือ การปรับคลื่นแสงที่หน้าจอ หรือ Refresh rate ให้อยู่ที่ 70-80 Hz ซึ่งคลื่นแสงขนาดนี้จะทำให้จอภาพเต้นได้อย่างพอดี ทำให้การมองเห็นภาพสบายตามากที่สุด
นอกจากการปรับสิ่งแวดล้อมภายนอกแล้ว ตัวเราเองก็ต้องพยายามควบคุมตัวเองให้เหมาะสมด้วย อย่างที่บอกไปว่าเวลาที่เราจ้องหน้าจอมากๆ จะทำให้อัตราการกระพริบตาลดลง ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็ต้องพยายามละสายตาจากหน้าจอบ้าง โดยหลังจากที่เราใช้ดวงตาจดจ้องหน้าจอไปสัก 20-30 นาที ก็ควรหยุดพักสายตาให้ได้เป็นเวลา 2-4 นาที และกระพริบตาให้บ่อยขึ้น เพื่อเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่วๆ จะได้ไม่เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายๆ หรือถ้าใครเป็นหนักอาจจะต้องใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตา เพื่อหล่อลื่นลูกตาให้ดีมากขึ้น ส่วนใครที่มีอาการสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ก็ควรสวมแว่นเพื่อปรับการมองเห็นให้ชัดเจนมากที่สุด เวลาที่จ้องมองที่หน้าจอจะได้ไม่ต้องเพ่งสายตามากจนเกินไป ซึ่งก็จะช่วยให้โอกาสการเกิดความเมื่อยล้าทางสายตาลดน้อยลงได้ด้วย หรือหากเป็นไปได้ ก็ควรกำหนดตัวเองให้นั่งทำงานที่จ้องจอภาพไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือก็เอาไปทำงานอย่างอื่นบ้าง เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันโรคซีวีเอสได้แล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันโรคออฟฟิตซินโดรมได้อีกด้วย

    เพราะดวงตาเป็นอวัยวะแสนรักแสนหวง ใครๆก็ต้องอยากให้มันอยู่ทนไปตลอดชีวิตอยู่แล้ว การลดเวลาในการใช้สายตาหน้าจอคอมพิวเตอร์ลง จึงเป็นการช่วยลดอาการปวดตา แสบตา หรือตาพร่ามัว ของโรคซีวีเอสได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้าใครยังไม่สามารถจะลดเวลาในการทำงานหน้าจอได้จริงๆ ก็ต้องพยายามปรับสภาวะการทำงานหน้าจอให้เหมาะสมมากขึ้นตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น


    ลองพยายามปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตหน้าอุปกรณ์อิเลกทรอนิกเหล่านี้ให้ดีขึ้น เพื่อลดโอกาสการสัมผัสกับแสงจ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้ได้แล้ว ก็น่าจะช่วยให้คุณสามารลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสายตา ทั้งโรคซีวีเอส สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง โรคต้อ หรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับดวงตาลงได้ การมองเห็นของคุณจะได้ยาวนานและสดใสมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น


Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)