ตรวจมะเร็งผิวหนังกันหน่อย
ตรวจมะเร็งผิวหนังกันหน่อย
ความน่ากลัวของโรคมะเร็ง คือ สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกหรือภายในก็ตาม โดยหากเป็นอวัยวะภายในก็อาจจะสังเกตความผิดปกติได้ยากกว่าอวัยวะภายนอก แต่ถึงแม้ว่าจะเกิดอาการผิดปกติขึ้นที่อวัยวะภายนอกแล้ว แต่คุณไม่ทราบถึงวิธีการในการสังเกตจุดเกิดมะเร็ง ก็คงจะน่าเสียใจที่คุณเองดูแลตัวเองได้ม่ดีเพียงพอ
บางครั้งเราอาจจะมองเห็นแล้วว่าร่างกายเรามีบางอย่างเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนเพราะอะไร เพราะมีปัจจัยมากมายที่สามารถส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น อายุ อาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การเกิดโรคมะเร็ง

โดยเฉพาะความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังมักเกิดได้บ่อยกว่าส่วนอื่น เช่น ผิวหนังคล้ำมากขึ้น มีจุดต่างๆตามร่างกาย หรือไฝที่เคยมีเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น อย่างนิ่งนอนใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะมันอาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง ที่เราทุกคนจำเป็นต้องรู้ก่อนที่โรคร้ายจะทำลายเรา
วันนี้จะมาแนะนำวิธีการสังเกตอาการที่เข้าข่ายการเป็นมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งวิธีการป้องกันหรือแก้ไขว่าควรมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างยาวนานและมีสุขภาพที่ดี ไร้โรคภัย
แน่นอนว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่อันตราย ใครที่ป่วยเป็นโรคนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเสียชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจพบเชื้อมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ง่าย ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานน้อย และช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ดีกว่า ดังนั้น การเรียนรู้ถึงแนวทางการสำรวจโรคร้ายจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้เราสามารถรับรู้ร่องรอยของโรคมะเร็งผิวหนัง และป้องกันก่อนที่มันจะลุกลามกลายเป็นแผลที่ร้ายกาจในร่างกาย
โรคมะเร็งผิวหนังมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ขึ้นกับว่าชนิดของเซลล์ที่ถูกกลายพันธ์เป็นมะเร็งผิวหนังเป็นเซลล์แบบไหน ซึ่งหนึ่งในโรคมะเร็งที่เราจะเรียนรู้กันวันนี้ คือ ไฝมะเร็ง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก โดยเฉพาะคนที่มีไฝบนร่างกายตามอวัยวะต่างๆ ในเมื่อคุณไม่ได้กำจัดมันออกไป แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไฝนั้นกำลังจะกลายเป็นมะเร็ง หรือไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแต่อย่างใด มาลองศึกษาเรื่องนี้กันเลย
โรคมะเร็งผิวหนังจะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยคนไทยอาจจะมีความเสี่ยงต่อการที่ไฝเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้น้อยกว่าฝรั่งที่มีผิวขาว เนื่องจากความแตกต่างของเชื้อชาติ ปริมาณแสงแดดที่ได้รับ เม็ดสีผิวที่มีความแตกต่างกัน หรือปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น ประวัติการป่วยของคนในครอบครัว ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำบางชนิด เป็นต้น
ส่วนของการตรวจเช็คความผิดปกติเบื้องต้นด้วยตัวเอง จะต้องมีการตรวจเช็คสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของไฝหรือตุ่มๆตามร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยทุกๆ 1 เดือน โดยสามารถเริ่มต้นได้จากการทำตามขั้นตอน ดังนี้
เริ่มจากการมองหาไฝเจ้าปัญหากันก่อน โดยไฝที่เรามีกันอาจจะมีหลายลักษณะ แต่ถ้ามีลักษณะข้อหนึ่งข้อใดในข้อควรระวังต่อไปนี้ จะต้องดูแลกันให้มากเป็นพิเศษไฝต้องสงสัยจะแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ คือ
1)ไฝที่มีรูปร่างไม่สมมาตร
2)ไฝที่ขอบไม่เรียบหรือมีขอบขรุขระ
3)ไฝที่มีสีของไฝไม่สม่ำเสมอ
4)ไฝที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 mm
5)ไฝที่มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆหรือเปลี่ยนแปลงขนาดอยู่เสมอ
หากไฝที่คุณมีเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ให้ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าไฝนี้อาจจะมีสิ่งผิดปกติ และกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในอนาคตได้
ทั้งนี้ เม็ดไฝอาจจะไม่ได้อยู่เด่นชัดในจุดที่เราสังเกตได้ทั้งหมด และก็ไม่ได้แปลว่าไฝที่เรามองไม่เห็นมันจะไม่มีทางกลายเป็นมะเร็ง เพราะไฝทุกเม็ดที่มีลักษณะตามที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนแต่สามารถพัฒนากลายร่างเป็นมะเร็งได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่เราต้องมีการสำรวจไฝทุกเม็ดบนร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นหลังหรือจุดซ่อนเร้น ก็ต้องมีการใช้กระจกส่องดู เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของมันอยู่ตลอด

โดยจากสถิติพบว่า ผู้ชายฝรั่งผิวขาวมักมีไฝมะเร็งที่พบตามแผ่นหลัง ส่วนผู้หญิงฝรั่งผิวขาวมักพบไฝมะเร็งตามขาท่อนล่างและหลัง ในขณะที่คนเอเชียพบพบไฝได้บ่อยที่บริเวณมือหรือเท้า ซึ่งความแตกต่างของบริเวณที่พบก็ขึ้นกับพฤติกรรมของคนในแต่ละเชื้อชาติและแต่ละเพศนั่นเอง อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าอวัยวะส่วนอื่นๆจะไม่มีโอกาสเกิดมะเร็ง เพราะไฝมะเร็งพบได้ทุกบริเวณ เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมที่จะตรวจเช็คมันอยู่บ่อยๆ
การสำรวจร่างกายไม่ควรทำเป็นจุดๆ หรือเฉพาะจุดที่เราสนใจ แต่ควรสำรวจให้ครบตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ทำให้สม่ำเสมอและเป็นระบบ โดยเรามี Checklist ระบบการตรวจ ดังต่อไปนี้
– ตรวจใบหน้าและศีรษะ ริมฝีปาก ข้างใบหน้า หนังศีรษะ
– ตรวจมือ ฝ่ามือ ง่ามนิ้วมือ
– ตรวจข้อศอก ข้างลำตัว และรักแร้
– ตรวจหน้าอก เต้านม และส่วนลำตัวด้านหน้า
– ตรวจหลัง คอด้านหลัง ต้นแขนด้านหลัง สะโพก ขาด้านหลัง
– ตรวจเท้าและท่อนขา
– ตรวจอวัยวะเพศ
สุดท้ายหากพบว่าไฝที่มีเกิดความผิดปกติหรือมีความน่าสงสัยบางอย่าง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เพราะการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และทำการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้สามารถลดอันตรายที่จะเกิดกับคุณได้ ซึ่งการรักษาโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่คุณเป็น ขนาดของไฝ และ ระยะของของมะเร็งผิวหนัง ซึ่งแต่ละองค์ประกอบจะทำให้การรักษาแตกต่างกันออกไป
สำหรับคนที่กังวลแนะนำให้มาตรวจร่างกายอย่างละเอียด และหากเคยรักษาโรคนี้แล้วก็จะต้องมีการพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งด้วย