การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

ฝันร้าย (ที่ไม่) กลายเป็นดี

ฝันร้าย (ที่ไม่) กลายเป็นดี

ไม่มีใครอยากจะนอนฝันร้ายทุกคืน เพราะช่วงเวลาการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนที่ดีที่สุด หากมีการฝันร้ายมารบกวน ก็อาจจะทำให้ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนนี้ถูกทำให้แย่ลง แทนที่ จะได้ฟื้นฟูร่างกายที่บอบช้ำ กลับต้องทำให้สมองทำงานหนัก และเกิดเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีภายหลังจากการตื่นนอน

หากกล่าวกันในเชิงวิชาการแล้ว มีเหตุผลและที่มาของการฝันร้าย ซึ่งคุณสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเป็นเหตุการณ์ฝันร้ายกับตัวเองได้ หากมีการปฏิบัติที่ถูกต้องคุณก็จะช่วยลดการฝันร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืน และทำให้คุณสามารถที่จะพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมีการลุกตื่นกลางดึกอีกต่อไป

ในช่วงการหลับฝันจะเป็นช่วงที่สมองตื่นตัวและประมวลความจำหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้สิ่งที่สมองประมวลออกมาเกิดเป็นปรากฏภาพเหมือนจริง และส่งต่ออารมณ์ความรู้สึกในช่วงเวลากำลังนอนหลับฝัน ซึ่งฝันของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นฝันดีหรือฝันร้าย

ฝันร้าย (ที่ไม่) กลายเป็นดี — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/woman-laying-down-on-bed-near-window-1841636/

ฝันร้าย (nightmare) เป็นภาวะจากการนอนหลับฝันที่ทำให้เกิดความรู้สึกกังวล หวาดกลัว หรือระทึกใจ โดยปกติแล้วอาการฝันร้ายมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้ตื่น ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดอาการฝันร้ายด้วยส่วนใหญ่มักมีความเครียด ซึ่งทำให้เกิดเป็นอาการฝันร้ายเป็นประจำ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ในที่สุด

ถึงแม้ว่าการฝันร้ายจะไม่ใช่ภาวะที่อันตราย แต่หากให้เกิดกับตัวเองก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการตอบสนองทางอารมณ์เชิงลบ การฝันร้ายจะเกิดในช่วงการนอนหลับที่เรียกว่าระยะ REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อสมองส่วนทาลามัสและซีรีบรัมหยุดทำงานลง โดยทั่วไปแล้วในช่วงหลับฝันจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการส่งสัญญาณจากก้านสมองไปยังส่วนของทาลามัส เพื่อถ่ายทอดสัญญาณดังกล่าวไปยังเซลล์สมองชั้นนอก ในขณะที่เซลล์สมองส่งสัญญาณ ร่างกายจะหยุดการทำงานของเซลล์ประสาทตรงไขสันหลัง ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถขยับแขนขาได้ชั่วขณะ ซึ่งก็เป็นผลให้ช่วงเวลานอนหลับเราจะไม่มีการขยับร่างกายนั่นเอง

แต่หากมีบางสิ่งบางอย่างมากระทบกับกระบวนการนี้ ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ออกมานอกฝัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเห็นเป็นภาพลักษณ์ที่ซับซ้อน จนทำให้เกิดเป็นความกลัวที่รุนแรง หรือเกิดฝันร้ายนั่นเอง

สมาคมจิตแพทย์อเมริกาได้ให้คำจำกัดความและกำหนดการวินิจฉัยว่า…ฝันร้ายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กที่มีอายุประมาณ 10 ขวบขึ้นไป แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจหรือส่งผลกระทบต่อทางสังคมม

อย่างไรก็ตาม หากฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อยๆกับวัยผู้ใหญ่ มักจะเป็นสัญญาณของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ซึ่งอาจจะเกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาในอนาคตได้

สำหรับคนที่พบเจอฝันร้ายบ่อยๆ ส่วนใหญ่รูปแบบของการฝันร้ายมักจะเป็นในรูปแบบของการวิ่งหนีอะไรบางอย่างที่เป็นอันตราย การตกจากที่สูง หรือหากคุณเป็นคนที่เคยประสบเหตุสะเทือนขวัญ ก็อาจจะฝันถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นนั้นๆอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ สาเหตุของการฝันร้ายมักจะเกิดมาจากปัจจัยเพียงไม่กี่อย่าง ดังต่อไปนี้

1) ความเครียดและความวิตกกังวล

2) การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

3) ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น

4) การดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากเกินไป

5) เกิดความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

6) รับประทานอาหารบางอย่างที่ย่อยยากก่อนเข้านอน

ฝันร้าย (ที่ไม่) กลายเป็นดี — ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/dawn-people-woman-hand-6788686/

อย่างไรก็ตาม ฝันร้ายอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพบางอย่างก็เป็นได้เช่นกัน ทั้งนี้ปัญหาทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องโดยส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่า หรือภาวะที่เกิดความผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นต้น

สำหรับวิธีในการป้องกันฝันร้ายนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

1 หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด เครื่องดื่มที่เราอยากจะให้คุณงดเว้นก่อนเข้านอน ก็คือ เครื่องดื่มประเภทคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม กลุ่มเครื่องดื่มต่างๆเหล่านี้จะทำให้ร่างกายมีการตื่นตัว เมื่อได้รับประทานเข้าไปจะมีผลทำให้นอนหลับได้ยากและอาจจะส่งผลต่อการฝันร้ายได้

2 ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน ในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเตรียมตัวเข้านอน การทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยทำให้คุณสามารถนอนหลับและฝันดีได้ กิจกรรมที่แนะนำอาจจะเป็นการนอนแช่น้ำอุ่น หรือการอ่านหนังสือเล่มโปรด

3 ปรับอุณหภูมิห้องนอน อุณหภูมิห้องนอนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะรบกวนการนอนหลับของคุณได้ คุณควรที่จะปรับ เครื่องปรับอากาศในห้องนอนไม่ให้มีอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวมากจนเกินไป เพื่อที่จะทำให้การนอนหลับของคุณยาวนานต่อเนื่องและไม่สะดุ้งตื่นกลางดึก

หากเมื่อใดก็ตามที่ความฝันกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คุณจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการในการกำจัดความฝันออกไป โดยอาจจะต้องมีการปรับพฤติกรรมในการนอนหลับเสียใหม่ หรือต้องเข้าพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะทำให้ฝันร้ายที่เคยมีจางหายไป และทำให้การนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่จะเติมเต็มพลังงานให้แก่ร่างกายสามารถมีแรงสู้กับวันข้างหน้าต่อไปได้

Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version