บทความน่ารู้, สุขภาพน่ารู้

ปั๊มหัวใจ…ช่วยชีวิตยังไงให้ทันเวลา

    “ช่วยด้วยค่ะๆ มีคนเป็นลม หมดสติตรงนี้ค่ะ!!”

    หากคุณเป็นคนหนึ่งที่บังเอิญผ่านมาพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ คิดว่าจะต้องทำตัวอย่างไร? จะต้องโทรเรียกรถพยาบาล โทรเรียกตำรวจ เข้าไปช่วยดมยาดม หรือว่าจะต้องช่วยปั๊มหัวใจเหมือนในหนังภาพยนตร์ การที่เรารู้ถึงวิธีการที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยหมดสติเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว เพราะคุณจะถือเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินว่าชีวิตของคนเหล่านั้นจะ ‘เป็น’ หรือ ‘ตาย’ ได้เลย

    สมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก หรือถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยชีวิตจนฟื้นขึ้นมาได้ อะไรๆก็คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

    “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” หรือที่เรียกว่า “CPR” จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการสำคัญในการยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดอาการหมดสติ ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ที่เรียกว่า “ภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน” โดยอาการนี้อาจจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจมาก่อนหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน นอกจากนี้ อาจพบอาการดังกล่าวได้ในผู้ที่จมน้ำ ผู้ที่ได้รับยาบางชนิดเกินขนาด ผู้ที่ได้รับสารพิษ หรือผู้ที่ขาดออกซิเจนเป็นเวลานานๆ ซึ่งหากเราสามารถรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเหล่านั้นสามารถฟื้นจากอาการป่วยที่เป็นอยู่ได้ หรือบางครั้งการที่เราช่วยปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ก็อาจจะช่วยลดการบาดเจ็บของผู้ป่วยคนนั้นๆ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้อีกด้วย

    อย่างไรก็ดี หากเรามีความหวังดีที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีอาการที่ดีขึ้น แต่ยังไม่รู้วิธีการในการช่วยชีวิตที่ถูกต้อง ก็สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิธีการเหล่านี้ไว้ เพราะการช่วยชีวิตที่ผิดวิธี อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้

ปั๊มหัวใจ...ช่วยชีวิตยังไงให้ทันเวลา
ภาพจาก : http://thainurseclub.blogspot.com/2014_01_01_archive.html ปั๊มหัวใจ…ช่วยชีวิตยังไงให้ทันเวลา


    ทีนี้มาดูวิธีการยื้อชีวิตด้วยวิธีการ CPR ที่ถูกต้องกันเลยดีกว่า เริ่มต้นจากเมื่อพบเห็นผู้ป่วยที่หมดสติ ให้ลองใช้เสียงเรียกหรือเขย่าร่างกายดูว่าผู้ป่วยคนนั้นๆยังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการเขย่าที่คอหรือศีรษะ ถ้าไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยคนนั้นๆมีอาการบาดเจ็บที่อวัยวะส่วนนี้หรือไม่ แต่ให้ใช้วิธีการตบที่หัวไหล่ทั้งสองข้างเบาๆเพื่อทดสอบสติสัมปะชัญญะของผู้ที่หมดสติไปแทน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังจนเกิดเป็นอัมพาตได้

    หลังจากที่มั่นใจแล้วว่าผู้ป่วยหมดสติไปจริง ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่รอบข้าง โดยให้คนเหล่านั้นช่วยโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 1669 สายด่วนนี้จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุมากที่สุด เพื่อให้ทางโรงพยาบาลเตรียมรถพยาบาลฉุกเฉินมารับผู้ป่วยที่สถานที่เกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที
หลังจากที่บอกให้คนรอบข้างช่วยโทรศัพท์ไปเรียกรถพยาบาลแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานกันได้เลย เริ่มต้นจากการจัดท่าให้ผู้หมดสตินอนหงายไปบนพื้นราบ แขนและขาทั้งสองข้างเหยียดตรง จากนั้นทำการเปิดทางเดินลมหายใจ โดยหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือลำคอ ให้ใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งดันหน้าผาก จากนั้นเอานิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกด้านดันคางให้เชิดขึ้น  แต่หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจจะได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดังกล่าว ให้ผู้ที่ปฏิบัติการช่วยชีวิตนั่งอยู่ในตำแหน่งเหนือศีรษะของผู้ที่หมดสติ แล้วใช้นิ้วหัวแม้มือกดยันที่กระดูกแก้ม นิ้วอื่นๆให้เกี่ยวกระดูกขากรรไกรล่างแล้วดึงขากรรไกรล่างขึ้นมา ก็จะสามารถเปิดทางลมหายใจได้แล้ว

    หลังจากเปิดทางลมหายใจได้เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการตรวจดูว่าผู้ที่หมดสติยังมีลมหายใจอยู่หรือไม่ ซึ่งทำได้โดยการฟังเสียงลมหายใจบริเวณปากและจมูก ไปพร้อมๆกับการใช้สายตาจ้องมองการเคลื่อนไหวบริเวณหน้าอก ขั้นตอนนี้ควรใช้เวลาสั้นๆประมาณ 10 วินาที เมื่อเห็นว่าผู้หมดสติหยุดหายใจไปแล้ว ก็ให้เริ่มลงมือปั๊มหัวใจช่วยชีวิตได้เลย

ปั๊มหัวใจ...ช่วยชีวิตยังไงให้ทันเวลา
ภาพจาก : http://www.metro.us/newyork/news/2013/03/04/911-dispatcher-pleads-with-nurse-who-refuses-to-perform-cpr-on-elderly-woman/ ปั๊มหัวใจ…ช่วยชีวิตยังไงให้ทันเวลา


    ขั้นตอนการปั๊มหัวใจนี้ ถือเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้อย่างถูกต้องและทันเวลา เริ่มต้นจากการหาตำแหน่งการวางมือบนหน้าอก ซึ่งตำแหน่งที่เหมาะสมจะอยู่ในระนาบเดียวกับหัวนมหรือบริเวณกลางหน้าอก ส่วนการวางฝ่ามือจะต้องวางฝ่ามือด้านหนึ่งลงบนอก ส่วนอีกข้างหนึ่งให้ประสานมือทาบอยู่ด้านบน จากนั้นกดน้ำหนักลงบนหน้าอกโดยให้ข้อศอกเหยียดตรง แขนจะทำมุม 90 องศากับพื้นราบ การกดจะต้องกดให้เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอโดยมีความถี่อยู่ที่ 100 ครั้งต่อนาที และจะต้องกดให้หน้าอกลึกลงไปประมาณ 1.5-2 นิ้ว จึงจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของหัวใจได้อย่างถูกต้อง

    การทำ CPR ด้วยวิธีที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีลมหายใจได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาได้ในทันที แต่การช่วยปั๊มหัวใจก็จะช่วยพยุงให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้อยู่ตลอดเวลาและไม่ให้สมองขาดออกซิเจน การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกๆคนควรจะมีความรู้ติดตัวเอาไว้ หากวันใดวันหนึ่งจำเป็นจะต้องงัดมันออกมาใช้จริงๆ ก็จะได้ทำได้อย่างถูกต้องและไม่เคอะเขินอีกต่อไป

 

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)