การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

คันหู..รู้นะว่าเป็นอะไร

อาการคันหูเป็นอาการที่พบได้บ่อย และทำให้เกิดความน่ารำคาญแก่ผู้ที่มีอาการเป็นอย่างยิ่ง คนส่วนใหญ่ที่มีอาการคันหูก็มักจะแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ไม้พันสำลีปั่นหูชั้นนอก หรืออาจใช้นิ้วสอดเข้าไปในรูหูเพื่อแคะ ขยี้ หรือปั่นรูหู เพื่อบรรเทาอาการคัน ซึ่งจริงอยู่ที่การกระทำดังกล่าวอาจพอจะช่วยคลายอาการคันลงได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องมากนัก เพราะอาจทำให้ผิวหนังของหูชั้นนอกเกิดการอักเสบมากขึ้น และส่งผลให้เกิดอาการคันที่มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้อาจร้ายแรงขึ้นไปอีกถ้าหากมีการติดเชื้อของแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นหูชั้นนอกอักเสบหรือเกิดฝีของหูชั้นนอกตามมาได้

คันหู..รู้นะว่าเป็นอะไร
ภาพจาก : http://www.visualphotos.com/image/2×4140994/model_released_cleaning_ears_woman_using_a_cotton คันหู..รู้นะว่าเป็นอะไร

 

 อาการคันหูเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุประการแรกเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู เช่น แมลงตัวเล็กๆ สิ่งของจิ๋วๆ ทำให้เราอาจได้ยินเสียงขลุกขลักๆ ก้องอยู่ข้างใน และเกิดอาการคันเข้าไปข้างในหูได้ สาเหตุต่อมาอาจเป็นการอักเสบเรื้อรังของหูชั้นนอก (chronic otitis externa) ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดมาจากการที่ผู้ป่วยใช้ไม้พันสำลีปั่นช่องหูชั้นนอกเป็นประจำโดยเฉพาะเวลาหลังอาบน้ำ น้ำที่เข้าหูจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังบริเวณหูชั้นนอก จนทำให้เกิดอาการคันหูแบบเรื้อรังไม่หายเสียที รวมไปถึงการใช้ไม่แคะหูด้วยเช่นกัน เพราะการลากไม้แคะไปในท่อหูอ่อนๆแต่ละครั้ง อาจจะทำให้เกิดรอยแผลเล็กๆขึ้นมากมาย โดยเราแทบไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายร้ายแรงมากเพียงใดต่อหูอันแสนบอบบางของเรา สาเหตุต่อมาอาจเกิดได้จากการอักเสบของหูชั้นกลาง ทำให้เยื่อบุแก้วหูทะลุแล้วมีหนองไหลออกมา จนเป็นสาเหตุให้เรารู้สึกคันหูมากขึ้นกว่าเดิมได้ นอกจากนี้ ก็ยังพบสาเหตุอื่นๆได้อีกหลายประการ เช่น การติดเชื้อราของช่องหูชั้นนอก (otomycosis), การเกิดโรคสะเก็ดเงิน(psoriasis), การเกิดโรคต่อมไขมันอักเสบ (seborrheic dermatitis), การเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น

 ขี้หู เป็นไขมันจากร่างกายที่ทำหน้าที่ในการช่วยหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น และป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหูอยู่แล้ว ทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปแคะหู และไม่แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีเช็ดหู เพราะ จะยิ่งดันขี้หูให้เข้าไปลึกมากกว่าเดิม แต่ถ้ามีขี้หูอุดตันมากจนมีหูอื้อ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพราะเอาออกด้วยเครื่องมือเฉพาะจะดีกว่า การใช้ไม้หรือมือแคะเอามันออกมา เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้

ทีนี้มาดูกันว่าใครกันที่มีโอกาสเกิดอาการคันหูได้บ่อยที่สุด ใครก็ตามที่จำเป็นต้องว่ายน้ำบ่อยๆหรือเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ คงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำบ่อยๆได้ และน้ำนั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหูเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณท่อหูส่วนนอก ซึ่งอาการเปื่อยที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้เกิดอาการ ‘หูส่วนนอกอักเสบ’ ตามมาได้

นอกเหนือจากอาการคันแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือมีหนองไหลจากหู ซึ่งการตรวจวินิจฉัยจะใช้กล้องชนิดพิเศษตรวจดูความผิดปกติภายในหู เช่น ตรวจรอยแผล รอยถลอก การเปลี่ยนแปลงสีภายในหู หรือการเปลี่ยนแปลงของแก้วหู เป็นต้น

ภาพจาก : http://www.express.co.uk/life-style/health/446746/Ear-wax-a-bulging-disc-and-a-strange-lump-Dr-Rosemary-Leonard-answers-medical-queries คันหู..รู้นะว่าเป็นอะไร
ภาพจาก : http://www.express.co.uk/life-style/health/446746/Ear-wax-a-bulging-disc-and-a-strange-lump-Dr-Rosemary-Leonard-answers-medical-queries คันหู..รู้นะว่าเป็นอะไร

 

    การรักษาโดยส่วนมาก แพทย์จะจ่ายยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัน และอาจใช้ยาสตีรอยด์ทาหรือหยอดหู เพื่อลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการคันร่วมด้วย ส่วนสิ่งที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงคือ การใช้ไม้พันสำลี ไม้แคะหู กิ๊บหนีบผม นิ้ว หรือของที่มีความแหลมคนทุกอย่างแหย่เข้าไปเพื่อปั่นในช่องหู เพราะอาจทำให้อันตรายเป็นอย่างมากถึงขั้นแก้วหูทะลุได้เลย หากต้องการทำความสะอาดหูจริงๆ แนะนำให้ใช้เพียงก้อนสำลีที่สะอาดชุบน้ำแล้วเช็ดบริเวณปากช่องหูเท่านั้น รวมถึงต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหูเป็นอันขาด หากจะให้ดีควรหาอุปกรณ์มาอุดหูเวลาอาบน้ำไว้ด้วย จะช่วยให้ลดอาการอักเสบหรือทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น

การป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับหูอีกทางหนึ่ง อาจทำได้โดยการพยายามรักษาตัวให้ดี และอย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดนานๆ เพราะเมื่อคุณเกิดอาการเป็นหวัดคัดจมูก จะส่งผลให้เชื้อโรคจากน้ำมูกติดต่อผ่านมาทางหูชั้นกลางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะจะส่งผลให้เกิดแรงดันที่นำพาเชื้อโรคให้มาเข้าใกล้หูได้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ หากเริ่มรู้ตัวว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นภายในรูหู ก็ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำหรือการเดินทางโดยเครื่องบิน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดความดันที่กระทำต่อหูมากขึ้น หากท่อยูสเตเซียนไม่สามารถปรับความดันได้เป็นปกติ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหูมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึกเกินกว่า 85 เดซิเบล เช่น ผับ โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เป็นต้น หรือหากจำเป็นจะต้องเข้าไปก็ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันหูทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสียได้

เพียงแค่หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดอาการคันดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ทำให้คุณมีความสุขในการฟังเสียงในทุกๆวันแล้วค่ะ

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)